บล็อกเกอร์นี้ได้จำทำขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนต์เรื่อง Harry Potter ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่อง Harry Potter

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Harry Potter


แฮร์รี่ พอตเตอร์

แฮร์รี่ พอตเตอร์ คือชุดนวนิยายแฟนตาซี ประพันธ์โดย เจ. เค. โรว์ลิ่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเด็กชายพ่อมดชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ หนังสือในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์มีจำนวนเจ็ดเล่ม โดยหนังสือเล่มแรกในชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ วางจำหน่ายในฉบับภาษาอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2540 และฉบับภาษาไทยในปี พ.ศ. 2543 ส่วนเล่มที่เจ็ด ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายของชุด มีชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ฉบับภาษาอังกฤษออกวางจำหน่ายทั่วโลกในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 โดยสำนักพิมพ์บลูมส์บิวรี่ รับผิดชอบพิมพ์จำหน่ายในสหราชอาณาจักร และสำนักพิมพ์สกอลาสติกในสหรัฐอเมริกา ส่วนฉบับภาษาไทยออกวางจำหน่ายในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์
โครงเรื่องหลักของนวนิยายชุดนี้เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ เด็กชายผู้เป็นพ่อมดตัวน้อย กับพ่อมดร้ายลอร์ดโวลเดอมอร์ ผู้สังหารบิดามารดาของแฮร์รี่ และวางฉากหลักอยู่ที่ โรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ หัวใจสำคัญของเรื่องคือการเปลี่ยนผ่านของวัยของตัวละครเอก แฮร์รี่ พอตเตอร์ และเพื่อนสนิท เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์และรอน วีสลีย์ โดยเรื่องราวส่วนใหญ่จะเป็นมุมมองของเขาและสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากเพื่อน อาจารย์ หรือประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
หนังสือประสบความสำเร็จอย่างสูงนับแต่เล่มแรกออกวางจำหน่าย นับถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 หนังสือชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้รับการตีพิมพ์ทั่วโลกรวมแล้วมากกว่า 400 ล้านเล่ม และมีการแปลไปเป็นภาษาต่าง ๆ 67 ภาษา หนังสือเล่มสุดท้ายของชุดยังได้ทำสถิติหนังสือที่จำหน่ายออกหมดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์
หนังสือทั้งเจ็ดเล่มได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยวอร์เนอร์บราเธอร์ส ซึ่งมีทั้งหมดแปดภาคด้วยกันเนื่องจากในภาคสุดท้าย ผู้สร้างได้แบ่งออกเป็นสองตอน การถ่ายทำแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ตอนที่ 2 ได้สิ้นสุดลงในวันที่12 มิถุนายน พ.ศ. 2553[5] และมีกำหนดฉายในวันที่15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 นับเป็นเวลากว่า 10 ปีที่ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้มีการถ่ายทำและออกฉายจนครบทุกภาค นอกจากนี้ ยังมีการนำไปสร้างเป็นวิดีโอเกมและสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย

แก่นของเรื่องและแรงบันดาลใจ


เจ. เค. โรว์ลิ่ง กล่าวว่ามีแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์นับไม่ถ้วน ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เธออ่านหนังสือมากมายตั้งแต่ในวัยเด็กจนถึงวัยทำงาน หนังสือพวกนั้นทำให้ความใฝ่ฝันที่เธอจะเป็นนักเขียนเพิ่มมากขึ้น โรว์ลิ่งมีความสุขที่จะได้อ่าน มีความสุขที่หนังสือ วรรณกรรม วรรณคดี นิยายทั้งหมดทั้งมวลที่เธออ่านคอยเพิ่มพูนความสุขมาให้ โรว์ลิ่งมักจะอยู่กับหนังสือเป็นเวลานาน ๆ เธอไม่เคยเบื่อการอ่านเลย ส่วนที่สองเกิดจากคนรอบข้างเธอตั้งแต่วัยเด็ก เช่น เพื่อนบ้านที่คอยดูแลเธอ เป็นต้น โรว์ลิ่งล้วนรักคนพวกนั้น เธอมักนำชื่อต่าง ๆ ที่เธอเกี่ยวข้องมาลงเขียนในหนังสือเสมอ
ความคิดเกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์เข้ามาในหัวของเจ. เค. โรว์ลิ่ง ขณะที่เธอนั่งรถไฟจากแมนเชสเตอร์มายังลอนดอนในปี พ.ศ. 2533 ในวันที่โรว์ลิ่งขึ้นรถไฟไปหาแฟนหนุ่มที่แมนเชสเตอร์ ทางเหนือของประเทศอังกฤษ ในขบวนรถไฟของสถานีคิงส์ครอสที่จะเดินทางกลับไปที่ลอนดอน หลังจากที่เธอนั่งลงที่ตู้ผู้โดยสาร ในตอนนั้นโรว์ลิ่งคิดที่จะเขียนนิยายอยู่พอดี เธอคิดถึงหนังสือต่าง ๆ ที่เธอเคยอ่าน เธอมักพูดอยู่เสมอว่าจะเขียนหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ หนังสือที่เธอชอบคือเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ ตำนานแห่งนาร์เนีย ซึ่งเนื้อหาของในหนังสือสองเล่มนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับแฮร์รี่ พอตเตอร์เช่นกัน
เธอคิดถึงตัวเอกของนิยายของเธอ ส่วนของรูปร่างหน้าตาเธอยังไม่สามารถคิดได้ จนในขณะที่เธอมองวิวนอกหน้าต่างอยู่นั้นเธอก็เกิดความคิดขึ้น ภาพของเด็กชายตาสีเขียว ใส่แว่นตา และมีรอยแผลเป็นรูปสายฟ้าอยู่ตรงหน้าผากก็เข้ามาในใจของเธออย่างรวดเร็ว โรว์ลิ่งกล่าวในภายหลังว่า

ฉันเขียนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อายุหกขวบ แต่ฉันไม่เคยตื่นเต้นกับความคิดไหนมากขนาดนี้มาก่อน ฉันเพียงแค่นั่งและก็คิด เป็นเวลาถึง 4 ชั่วโมง และรายละเอียดทั้งหมดก็ผุดขึ้นมาในหัวของฉัน และเด็กผู้ชายใส่แว่นผมดำผอมติดกระดูกที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นพ่อมดคนนี้ก็กลายเป็นความจริงสำหรับฉันขึ้นเรื่อย ๆ


โรว์ลิ่งเดินทางบนรถไฟ 4 ชั่วโมง เธอนั่งคิดเรื่องราวทั้งหมดโดยไม่ได้จดเอาไว้ (เธอไม่มีกระดาษ) โรว์ลิ่งตั้งชื่อเด็กชายว่า "แฮร์รี่" ซึ่งเป็นชื่อที่เธอโปรดปรานมากที่สุด และตั้งนามสกุลว่า "พอตเตอร์" ซึ่งเป็นชื่อของครอบครัวเพื่อนบ้านสมัยเด็ก เธอตั้งวันเกิดของแฮร์รี่ให้เป็นวันที่ 31 กรกฎาคม เหมือนกับวันเกิดของตัวเอง โรว์ลิ่งคิดถึงฉากในเรื่อง โรงเรียนของเด็กชายเป็นโรงเรียนสอนวิชาเวทมนตร์ให้แก่พ่อมดและแม่มดที่ยังเป็นเด็ก โดยให้โรงเรียนอยู่ทางเหนือของสกอตแลนด์ เพราะเธอคุ้นเคยกับปราสาทเก่าแก่มากมายในแถบนั้น
เมื่อรถไฟลงถึงที่ลอนดอน เธอรีบตรงกลับไปที่บ้านและจดบันทึกเรื่องราวทุกอย่างที่เธอคิด โรว์ลิ่งวางแผนว่าจะเขียนให้มีถึง 7 ภาคด้วยกัน แต่ละเล่มคือแต่ละปีของแฮร์รี่ที่ฮอกวอตส์ เธอมักเขียนหนังสือที่ร้านกาแฟในเมืองเอดินเบอระ และคิดค้นหาชื่อตัวละครจากทุกที่ไม่ว่าจะเป็น สมุดโทรศัพท์ ป้ายร้านค้า นักบุญ หมู่บ้านต่าง ๆ รวมไปถึงสมุดตั้งชื่อเด็ก เธอยังได้คิดกีฬายอดฮิตของพวกพ่อมดที่มีชื่อว่าควิดดิช เธอคิดชื่อและประวัติของกีฬา รวมถึงวิธีการเล่นต่าง ๆ ลูกบอล ซึ่งโรว์ลิ่งได้นำกีฬาต่าง ๆ มาผสมผสานกัน
โรว์ลิ่งใช้เวลากว่า 5 ปีเพื่อที่จะทำการขัดเกลานิยายของเธอให้สมบูรณ์ ใช้ภาษาให้ดูสวยขึ้น เธอกล่าวภายหลังว่าบทควิดดิชในหนังสือเล่มแรกเธอสามารถเขียนได้เร็วที่สุดโดยเธอเขียนเสร็จภายในวันเดียวและแก้คำไปเพียงสองถึงสามคำเท่านั้น 5 ปีหลังจากที่เกิดความคิดที่จะเขียนนิยายเรื่องนี้ หนังสือของเธอก็ได้รับการตีพิมพ์และขายดีไปทั่วโลก


แก่นเรื่อง

โรว์ลิ่งอธิบายถึงแก่นของเรื่องว่าเป็นการเกี่ยวข้องกับความตาย เธอกล่าวว่า

หนังสือของฉันเกี่ยวข้องอย่างมากกับความตาย มันเริ่มต้นขึ้นด้วยการตายของพ่อแม่แฮร์รี่ มันมีเรื่องเกี่ยวกับการครอบงำจิตใจของโวลเดอมอร์เกี่ยวกับการเอาชนะความตายและการค้นหาความเป็นอมตะไม่ว่าจะด้วยราคาใด ๆ จุดหมายของทุกคนที่มีเวทมนตร์ ฉันเข้าใจว่าทำไมโวลเดอมอร์ต้องการเอาชนะความตาย พวกเราทุกคนกลัวมัน>

แก่นเรื่องของแฮร์รี่ พอตเตอร์ยังเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นอีกหลายอย่าง เช่น ความรัก ความทระนง เสรีภาพในการเลือกชะตาของตัวเอง โรว์ลิ่งได้กล่าวว่าสารเหล่านี้ฝังตัวอยู่ในโครงเรื่องทั้งหมด เธอชอบที่จะให้เนื้อเรื่องดำเนินไปด้วยตัวของมันเองอย่างเป็นธรรมชาติ มากกว่าที่จะพยายามแทรกข้อคิดของตัวเองลงไปเพื่อให้ผู้อ่านรู้ ในขณะเดียวกันก็ยังนำเสนอเรื่องราวของความเป็นวัยรุ่น โรว์ลิ่งตั้งใจที่จะนำเสนอแง่คิดในการเติบโตด้านความรักของตัวละคร เพราะแฮร์รี่ไม่ได้จะเป็นเด็กอยู่ตลอดไป โรว์ลิ่งกล่าวว่า นัยทางด้านศีลธรรมของเรื่องนี้ชัดเจนมากสำหรับเธอ หัวใจของมันอยู่ที่การเลือกระหว่างสิ่งที่ถูกต้องกับสิ่งที่ง่ายดาย ดังที่ อัลบัส ดัมเบิลดอร์ ตัวแทนของฝ่ายดี กล่าวไว้ในเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี

ประวัติการประพันธ์ การพิมพ์ และการแปล

การตีพิมพ์

ในปี พ.ศ. 2539 โรว์ลิ่งเขียนต้นฉบับของหนังสือเล่มแรกเสร็จ และหาคนที่จะเป็นตัวแทนของเธอ ตัวแทนคนที่สองที่เธอได้ติดต่อ คริสโตเฟอร์ ลิตเติล ได้ตกลงที่จะเป็นตัวแทนของโรว์ลิ่งและส่งต้นฉบับไปที่สำนักพิมพ์บลูมสบิวรี หลังจากที่สิบสองสำนักพิมพ์ก่อนหน้านี้ได้ปฏิเสธ บลูมสบิวรีเสนอค่าตอบแทนล่วงหน้าเป็นเงิน 2,500 ปอนด์สเตอร์ลิง สำหรับการตีพิมพ์ Harry Potter and the Philosopher's Stone แม้ว่าโรว์ลิ่งจะไม่ได้วางกลุ่มอายุเป้าหมายเมื่อครั้งที่เธอเริ่มเขียน สำนักพิมพ์ได้วางกลุ่มอายุเป้าหมายเริ่มแรกไว้ที่ 9 ถึง 11 ปี สำนักพิมพ์ได้ขอให้โรว์ลิ่งเลือกนามปากกาที่ไม่บ่งบอกเพศ เนื่องจากกลัวว่าเด็กผู้ชายในวัยนี้จะไม่สนใจหากทราบว่าผู้แต่งนั้นเป็นผู้หญิง โรว์ลิ่งเลือกใช้ชื่อย่อว่า "เจ. เค. โรว์ลิ่ง" จากโจแอน แคทลีน โดยแคทลีนนั้นเป็นชื่อของย่าของเธอ
หนังสือเล่มแรกได้รับการตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรโดยบลูมสบิวรีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 และหลังจากนั้นในสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2541 โดยสำนักพิมพ์สกอลาสติก สกอลาสติกต้องการให้เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น Harry Potter and the Sorcerer's Stone เนื่องจากเกรงว่าผู้อ่านชาวอเมริกันอาจไม่คุ้นชินกับคำว่า philosopher (นักปราชญ์) หรือแก่นเรื่องเกี่ยวกับเวทมนตร์หรือการเล่นแร่แปรธาตุ ที่ philosopher's stone (ศิลานักปราชญ์ ฉบับแปลไทยใช้คำว่าศิลาอาถรรพ์) มีความเกี่ยวข้องอยู่ โรว์ลิ่งออกหนังสือเล่มต่อ ๆ มาตามมาในเวลาไล่เลี่ยกัน เรียงตามลำดับตั้งแต่ พ.ศ. 2540 - 2550 ทำให้รักษาความสนใจของผู้อ่านและสร้างกลุ่มผู้อ่านที่ภักดีขึ้นได้


งานประพันธ์ต่อเนื่อง

หลังจากหนังสือเล่มสุดท้ายของหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่มีชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต วางแผงและออกจำหน่าย โดยจบเรื่องราวของพ่อมดแฮร์รี่ พอตเตอร์ลง ไม่นานนักก็มีกระแสเรียกร้องให้ เจ. เค. โรว์ลิ่ง เขียนหนังสือเล่มที่แปดออกมาอีก โรว์ลิ่งกล่าวว่า เธอไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่มีหนังสือเล่มที่แปด แต่ตอนนี้เธอยังไม่ได้เขียน ซึ่งถ้าเธอจะเขียน อาจจะหลังจากนี้อีกสักสิบปีแล้วค่อยว่ากันอีกที
โรว์ลิ่งประกาศว่าเธอจะเขียนหนังสือนิยายเล่มใหม่ พร้อมกับบอกว่ากำลังเขียนหนังสือสารานุกรมเกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งมีเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่ไม่ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือมาก่อน เธอจะนำมาบอกเล่าให้ผู้อ่านได้อ่านกันในหนังสือสารานุกรมนี้ แต่คงต้องใช้เวลาอีกหน่อย หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน สำนักพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์หนังสือสารานุกรมไปก่อนหน้าที่เจ. เค. โรว์ลิ่งจะเขียนเสร็จ จึงเกิดการฟ้องร้องต่อศาลที่สหรัฐอเมริกา โรว์ลิ่งได้ฟ้องร้องสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์และจำหน่ายสารานุกรมนั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเธอและเป็นการคัดลอกข้อมูลของเธอซึ่งเธอกำลังจะเขียนมันในสารานุกรมแฮร์รี่ พอตเตอร์ของจริง ในการฟ้องร้องครั้งนั้นศาลได้ตัดสินให้เธอชนะคดีในที่สุด
หลังจากการฟ้องร้องจบลง เธอได้เขียนนิทานเรื่องหนึ่งขึ้นด้วยลายมือของเธอเอง ใช้ชื่อว่า นิทานของบีเดิลยอดกวี อันเป็นนิทานที่ถูกอ้างอิงอยู่ในเล่มที่เจ็ด นิทานเรื่องนี้ โรว์ลิ่งเขียนขึ้นมาเจ็ดเล่มในโลกเท่านั้น เธอมอบให้กับบุคคลที่ได้ทำให้เธอประสบความสำเร็จรวม 6 เล่ม ส่วนเล่มสุดท้ายนำไปประมูล ได้เงินมาราคาหลายล้านปอนด์และนำเงินมอบให้แก่การกุศล ต่อมามีเด็กสาวชาวออสเตรเลียคนหนึ่งได้แต่งคำกลอนประกวดและชนะเลิศโดยเธอได้อ่านเนื้อหาในหนังสือเล่มนั้นทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามสำนักพิมพ์ของอังกฤษก็ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกวางจำหน่ายในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ส่วนในประเทศไทยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นฉบับภาษาไทย วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยมีคุณสุมาลี บำรุงสุขเป็นผู้แปล
หลังจากเจ. เค. โรว์ลิ่งเขียนหนังสือนิทานเล่มนี้แล้ว เธอได้เขียนเรื่องราวสั้นๆ จำนวน 800 คำ ลงในกระดาษ เป็นเรื่องราวของเจมส์ พอตเตอร์กับ ซีเรียส แบล็ก ปะทะกับตำรวจมักเกิ้ล เป็นเรื่องราวก่อนแฮร์รี่จะเกิด 3 ปี เรื่องสั้นนี้ยังไม่ได้ตั้งชื่อ แต่เรียกกันอย่างย่อว่า พรีเควลแฮร์รี่ พอตเตอร์

การแปล

หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นอีกอย่างน้อย 67 ภาษา โดยภาษาแรกที่มีการแปลคือภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน หลังจากนั้นก็ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย รวมถึงภาษาละตินและภาษากรีกโบราณ โดยเป็นงานเขียนที่ยาวที่สุดในภาษากรีกโบราณนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 3 การแปลหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นมีความยากลำบากหลายประการ เช่น การถ่ายทอดวัฒนธรรมโรงเรียนประจำแบบอังกฤษ การใช้ภาษาที่แสดงถึงบุคลิกภาพหรือสำเนียง รวมถึงการคิดค้นศัพท์ใหม่ ๆ ของผู้แต่งด้วย
ผลงานในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับแปลภาษาไทยได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ในขณะที่ฉบับภาษาอังกฤษได้ออกมาแล้วสี่เล่ม โดยต้องเร่งแปลหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้งสี่เล่มให้เสร็จโดยเร็วเพื่อง่ายต่อการแปลแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่ห้า ซึ่งโรว์ลิ่งยังเขียนไม่เสร็จ มีผู้แปลทั้งสิ้นสามคน ได้แก่ สุมาลี บำรุงสุข แปลเล่มที่หนึ่ง สอง ห้า หกและเจ็ด วลีพร หวังซื่อกุล แปลเล่มที่สาม และ งามพรรณ เวชชาชีวะ แปลเล่มที่สี่ สาเหตุที่ สุมาลี บำรุงสุข ไม่ได้แปลเล่มสามและเล่มสี่นั้นเป็นเพราะว่าเหน็ดเหนื่อยจากการแปลทั้งสองเล่มแรกมาโดยไม่ได้พัก จึงได้ให้นักแปลคนอื่นมาแปลแทน หน้าปกฉบับภาษาไทยนั้นใช้ภาพแบบเดียวกับหน้าปกฉบับอเมริกัน ซึ่งเป็นผลงานของแมรี กรองด์เปร นอกจากนี้ พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตรได้มาเขียนคำนิยมให้กับหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้งสี่เล่มแรก โดยกล่าวยกย่องว่าเป็นหนังสือที่ทำให้เด็กรักการอ่าน


รางวัลที่ได้รับ

แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้มีรับรางวัลมาแล้วมากมาย ซึ่งทั้งเจ็ดเล่มก็ล้วนแต่ได้รางวัลต่างๆ มาแล้ว ตั้งแต่เล่มแรกจนถึงเล่มสุดท้าย โดยเล่มแรกในชื่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ได้รับรางวัล ชนะเลิศเหรียญทองรางวัล Nestle Smarties Book Prize ประจำปี พ.ศ. 2540 ประเภทหนังสือเด็ก อายุ 9-11 ปี เช่นเดียวกับเล่มที่สอง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ และเล่มที่สาม แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบันก็ล้วนแต่ได้รับรางวัลเดียวกันสามปีซ้อน นอกจากนี้แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ยังได้รับรางวัล British Book Awards ประเภท The Children's Book of the Year ในปีพ.ศ. 2541 อีกด้วย แฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มแรกยังได้รับรางวัล Parenting Book of the Year Award ประจำปี พ.ศ. 2541 รางวัล Whitaker's Platinum Book Award ประจำปี พ.ศ. 2544 อีกด้วย หลังจากแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่สี่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี ได้รับรางวัลฮิวโกประเภทนวนิยายดีเด่น ปีพ.ศ. 2544 ส่วนแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่ห้าในชื่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ ที่ตีพิมพ์ภายหลังได้รับรางวัล Fiction Prize at WH Smith People's Choice Book Awards ปี พ.ศ. 2547 ภายหลังจากนั้นแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่หก แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม ได้รับรางวัล British Book Awards ประเภท Book of the year และในเล่มสุดท้าย แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ได้รับรางวัล Nickelodeon's 2008 Kid's Choice Awards Book of the Year ประเภท Favorite Book ซึ่งเป็นการให้รางวัลแฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้งเจ็ดเล่ม

การดัดแปลงไปยังสื่ออื่น

ภาพยนตร์

ในปี พ.ศ. 2542 เจ. เค. โรว์ลิ่งขายสิทธิ์การสร้างภาพยนตร์จากหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์สี่เล่มแรกให้กับ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ในราคาหนึ่งล้านปอนด์สเตอร์ลิง โรว์ลิ่งยืนยันให้นักแสดงหลักเป็นชาวสหราชอาณาจักร รวมถึงใช้ภาษาอังกฤษบริเตน ภาพยนตร์สองภาคแรกกำกับโดยคริส โคลัมบัส ภาคที่สามโดยอัลฟองโซ กัวรอง ภาคที่สี่โดยไมค์ นิวเวลล์ และภาคที่ห้าโดยเดวิด เยตส์ บทภาพยนตร์ของสี่ภาคแรกเขียนโดยสตีฟ โคลฟ โดยร่วมงานกับโรว์ลิ่ง บทภาพยนตร์มีความเปลี่ยนแปลงจากหนังสือบ้างตามรูปแบบการนำเสนอของภาพยนตร์และเงื่อนไขเวลา อย่างไรก็ตาม โรว์ลิ่งได้กล่าวว่าบทภาพยนตร์ของโคลฟนั้นมีความตรงต่อหนังสือ

ภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ห้าภาคที่ผ่านมา มีนักแสดงหลักคือแดเนียล แรดคลิฟฟ์ เอ็มม่า วัตสันและรูเพิร์ท กรินท์ โดยแสดงเป็นแฮร์รี่ พอตเตอร์ เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ และรอน วีสลีย์ตามลำดับ โดยสามคนนี้ได้รับเลือกในปี พ.ศ. 2543 จากเด็กหลายพันคน วอร์เนอร์บราเธอร์สได้ยืนยันว่านักแสดงหลักสามคนนี้จะร่วมแสดงในภาพยนตร์ภาคที่หกและเจ็ดด้วย
นอกจากนี้ยังมีข่าวยืนยันจากวอร์เนอร์บราเธอรส์ว่าภาพยนตร์เรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต จะถูกแบ่งเป็นสองตอน กำกับโดย เดวิด เยตส์และสตีฟ โคลฟ จะกลับมาทำหน้าที่เขียนบทเช่นเดิม และทาง เจ. เค. โรว์ลิ่ง ได้เซ็นยอมรับแล้ว ซึ่งทำให้ภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์จะมีต่อไปจนถึงปี พ.ศ. 2554 รวมแล้วตั้งแต่ภาคแรกจนถึงภาคสุดท้ายใช้เวลานานกว่า 10 ปี
1.แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544)
2.แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ (15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545)
3.แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน (2 มิถุนายน พ.ศ. 2547)
4.แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี (17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548)
5.แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ (12 กรกฎาคม พ.ศ. 2550)
6.แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม (15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552)
7.แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ตอน 1 (19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553)[73]
8.แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ตอน 2 (15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554)
ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ประสบความสำเร็จอย่างมากในเรื่องรายได้ของภาพยนตร์ทั้ง 6 ภาคทำรายได้รวมมากกว่า 5,400ล้านเหรียญสหรัฐและภาพยนตร์ชุดที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล โดยภาคที่ทำรายได้ไปมากที่สุดคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ซึ่งทำรายได้ไปกว่า 974 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดอยู่ในอันดับที่ 8 ภาพยนตร์ทำเงินตลอดกาลของบ็อกซ์ออฟฟิศ
ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์แต่ละภาคได้รับคำวิจารณ์จากแฟนหนังสือมากมาย ในภาคแรกและภาคที่สองซึ่งกำกับโดยคริส โคลัมบัส ตัวภาพยนตร์เองได้รับการดัดแปลงเล็กน้อยแต่ก็ยังคงเนื้อเรื่องในหนังสือไว้ แต่เนื้อหาของภาพยนตร์ก็เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสำหรับเด็ก จึงทำให้เด็กชมภาพยนตร์ภาคแรกและภาคสองมากกว่าผู้ใหญ่ ในภาคที่สามกำกับโดยอัลฟองโซ กัวรองที่ได้ปรับเปลี่ยนตัวปราสาทฮอกวอตส์และใช้บรรยากาศแบบมืดครึ้ม แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องมากกว่าเดิมทำให้ฉากแอ๊คชั่นที่มีในหนังสือลดลงไป ส่วนในภาคที่สี่กำกับโดยไมค์ นิวเวลล์ เน้นหนักในเรื่องฉากแอ๊คชั่นและฉากต่อสู้ที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก แต่การทำฉากแอ๊คชั่นมากเกินไป จึงทำให้เนื้อหาและบทบาทตัวละครในเรื่องลดลงตามไปด้วย และในภาคที่ห้าที่กำกับโดยเดวิด เยตส์ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องและตัดเนื้อเรื่องบางตอนออกไป เนื่องจากเนื้อหาในหนังสือที่มากกว่าเล่มอื่น ๆ ฉากแอ๊คชั่นจึงลดลงทำให้ภาพยนตร์ออกมาในแนวดราม่า แต่ทางทีมงานก็ได้ใช้เทคนิคพิเศษมากกว่าภาคก่อนๆ ทำให้ภาพยนตร์ภาคที่ห้านี้ทำรายได้ไปถึง 938 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในภาคที่หกเดวิด เยตส์ทำหน้าที่กำกับภาพยนตร์เช่นเคยโดยจะเน้นบทดราม่ามากกว่าฉากแอ๊คชั่นซึ่งมีอยู่น้อยมากและจะเน้นในเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครต่างๆแทน ซึ่งก็ได้รับคำวิจารณ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ภาคที่หกนี้ก็ได้สร้างสถิติใหม่นั่นก็คือ ภาพยนตร์ทำเงินทั่วโลกสูงสุดในสัปดาห์แรก โดยทำเงินไปทั้งสิ้น 394 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำลายสถิติของไอ้แมงมุม 3ที่เปิดตัวด้วยรายรับทั่วโลก 381 ล้านเหรียญสหรัฐ

วิดีโอเกม

แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้ถูกดัดแปลงในรูปแบบของวิดีโอเกมหลังจากที่ภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ เข้าฉายได้ไม่นานนัก ผลิตและพัฒนาโดยบริษัทเกมอิเลคโทรนิค อาร์ตที่ผลิตออกมาเป็นเกมรูปแบบผจญภัย ในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับวิดีโอเกมที่สามารถเล่นได้กับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 และต่อมาได้พัฒนาจนสามารถเล่นได้ทั้งเครื่องเอกซ์บอกซ์ 360, วี เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการผลิตเกมที่ดำเนินตามเนื้องเรื่องในภาพยนตร์ออกมาแล้วจำนวนหกเกม นอกจากนี้ยังมีเกมควิดดิชเวิลด์คัพซึ่งไม่ได้ดำเนินตามเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ แต่จะเป็นรูปแบบเกมกีฬาแทน ผลิตโดยบริษัทอิเลคโทรนิค อาร์ตเช่นกัน โดยเกมควิดดิชเวิลด์คัพนี้สามารถเล่นได้กับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 และเอกซ์บอกซ์ เกมในชุดทั้งหมดมีดังนี้
-แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์
-แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ
-แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน
-แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี
-แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์
-แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม
-แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต
เกมชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับการสร้างภาคต่อขึ้นและมีการพัฒนารูปแบบของเกมไปเรื่อยๆในทุก ๆ ภาค เช่น การทำภาพสมจริง และเสียงประกอบ เป็นต้น นอกจากนั้นตัวละครในเกมบางส่วนยังได้รับเสียงพากย์จากนักแสดงตัวจริงที่แสดงในภาพยนตร์อีกด้วย

ละครเพลง

แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับการวางแผนให้ได้รับการดัดแปลงในรูปแบบละครเพลงซึ่งจะนำเนื้อหาจากหนังสือนิยายต้นฉบับมาดัดแปลง โดยจะใช้การร้องเพลงเป็นตัวดำเนินเรื่องและคาดว่าจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในปีต่อๆไป
ปัจจุบันการวางแผนให้แฮร์รี่ พอตเตอร์ดัดแปลงในรูปแบบละครเพลงนี้ยังอยู่ในรูปแบบโครงการและยังไม่ได้มีการเริ่มดัดแปลงแต่อย่างใด





ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น